ในช่วงกลางปี 2563 Global COVID-19 Index (GCI) ได้จัดให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในการฟื้นตัวของแต่ละประเทศจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 โดยประเทศไทยได้รับการประเมินให้ได้คะแนนดีที่สุด จาก 184 ประเทศทั่วโลก ด้วยคะแนนรวม 82.27 และจัดอยู่ในกลุ่มเรตติ้ง 5 คือ ประเทศที่บรรเทาการระบาดของไวรัสได้ก้าวหน้าที่สุดในโลก สามารถรับมือกับวิกฤตได้ดี โดยมีเปอร์เซ็นต์การติดเชื้อต่ำ และมีผู้เสียชีวิตน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ในขณะที่ประเทศอื่นมียอดการระบาดอย่างต่อเนื่อง
จากนั้นประเทศไทยกลับพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง ซึ่งนับเป็นระลอก 4 ในกลางเดือนธันวาคม 2563 มีรายงานยืนยัน พบแม่ค้ากุ้งติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร โดยกรมควบคุมโรค ได้แถลงข่าวพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 516 คน ซึ่งเป็นสถิติใหม่ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มในวันเดียวมากที่สุดในประเทศไทย นับตั้งแต่พบการระบาดครั้งแรกเมื่อช่วงปลายปี 2562 ในจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 90 เป็นแรงงานต่างชาติ ที่ไม่แสดงอาการ ทำให้ต้องยกระดับการควบคุม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโดยกำหนดพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ควบคุมโรคเด็ดขาด
หลังจากนั้นก็เริ่มทยอยพบผู้ติดเชื้อในตลาดต่างที่เชื่อมโยงกับตลาดกลางกุ้ง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือ ตลาดทะเลไทย ตลาดรถไฟมหาชัย และกระจายไปในหลายจังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร นครปฐม ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สระบุรี ปทุมธานี นนทบุรี ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อแบบ "คลัสเตอร์" หรือกลุ่มก้อนใหญ่ที่ส่งผลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในหลายจังหวัด คือ คลัสเตอร์ “บ่อนการพนัน” ในภาคตะวันออก ซึ่งมีรายงานพบผู้ติดเชื้อในจังหวัดระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด ก่อนจะกระจายไปจังหวัดต่างๆ
แต่เหตุการณ์ที่ทำให้มหาวิทยาลัยรังสิต ต้องกลับมาทบทวนว่าจะสามารถช่วยอะไรได้บ้างจากสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าวคือ กรณีข่าว 3 อาม่า เป็นพี่น้องกัน ติดเชื้อโควิด-19 กักตัวอยู่ที่บ้าน เพราะ ไม่มีเตียงรักษา อยู่มาหลายวัน อาการทรุดลง แต่ยังไม่มีรถพยาบาลมารับ จนทำให้หญิงชราา 1 ใน 3 คนเสียชีวิตภายในบ้านพัก ขณะที่อาม่าอีก 2 คน อยู่ระหว่างรอประสานหาเตียงรักษาอาการโควิด โดยมีเพจดังโพสต์ประสานช่วยเหลือ
จากกรณีดังกล่าวมหาวิทยาลัยรังสิตจึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานและเฝ้าระวัง COVID-19 หลักหก” โดยการสร้างทีมงานขึ้นมาเพื่อให้บริการประชาชนในชุมชนหลักหก จังหวัดปทุมธานี โดยมีหน่วยงานร่วมสนับสนุนคือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และเทศบาลตำบลหลักหก
การเปิดศูนย์ประสานงานและเฝ้าระวัง COVID-19 หลักหก จึงนับเป็นมิติใหม่ที่สถาบันการศึกษากับชุมชนใกล้ชิดกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยชาวหลักหกสามารถไลน์เข้ามาคุยกับมหาวิทยาลัยรังสิตได้ รวมถึงสามารถโทรมาที่เบอร์ Call Center 0-2791-6099 ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. ซึ่งเบอร์กลางนี้จะส่งต่อไปยังโทรศัพท์มือถือส่วนตัวของอาจารย์จากคณะเทคนิคการแพทย์ จำนวน 15 คน รวมถึงยังมี 2 คุณหมอ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.ชัยสิทธิ์ แสงทวีสิน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.วิบูลย์ กาญจนพัฒนกุล จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมให้ข้อมูล