loader



เส้นทางสู่ศูนย์พัฒนาหลักหก

เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสสู่การสร้างสังคมเกื้อกูล

เส้นทางสู่ศูนย์พัฒนาหลักหก

เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสสู่การสร้างสังคมเกื้อกูล


     จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ผลกระทบของโควิด-19 ต่อประชาชนทั่วโลกเกิดทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง ความเป็นอยู่ของประชาชน ภาวการณ์ตกงานเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน มหาวิทยาลัยรังสิตจึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานและเฝ้าระวัง COVID-19 หลักหก” โดยการสร้างทีมงานขึ้นมาเพื่อให้บริการประชาชนในชุมชนหลักหก จังหวัดปทุมธานี โดยมีหน่วยงานร่วมสนับสนุนคือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และเทศบาลตำบลหลักหก การเปิดศูนย์ประสานงานและเฝ้าระวัง COVID-19 หลักหก จึงนับเป็นมิติใหม่ที่สถาบันการศึกษากับชุมชนใกล้ชิดกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยชาวหลักหกสามารถไลน์เข้ามาคุยกับมหาวิทยาลัยรังสิตได้ รวมถึงสามารถโทรมาที่เบอร์ Call Center ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น.
     หลังจากนั้นมหาวิทยาลัยรังสิตได้เปิด “ศูนย์วัคซีนเพื่อประชาชน” มุ่งมั่นในการเป็นศูนย์วัคซีนจิตอาสาที่บริการประชาชน เพื่อให้ทุกคนได้รับวัคซีนกันอย่างทั่วถึง โดยดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีดำริให้สถานที่แห่งนี้ต้องเป็นนวัตกรรมต้นแบบ ตั้งแต่ด้านสถานที่ ความสะดวกสบาย บรรยากาศ ความรู้สึกผ่อนคลาย ความโอบอ้อมอารี จากสารตั้งต้นบนแนวคิด Most pleasant hospitality hub , Most humanize and ethical care นั้น จึงได้ออกแบบให้ศูนย์บริการแห่งนี้ เป็น “ศูนย์วัคซีนที่มีหัวใจ” เพื่อก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
     นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีสาขาวิชาคลอบคลุมในทุกสายวิชาชีพ จึงมีความพร้อมในการจัดทีมดูแลผู้ป่วย เมื่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาดระลอก 4 ตัวเลขผู้ป่วยสูงขึ้นทะลุ 20,000 คนต่อวัน มหาวิทยาลัยมีระบบบริการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) โดยคลินิกเวชกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต รับหน้าที่ในการทำ Home Isolation ให้แก่ผู้ป่วยในชุมชนหลักหก โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทีมอาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่า และบุคลากรจิตอาสา
     อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากจะส่งผลทางด้านสุขภาพแล้ว ยังเป็นปัญหาด้านการตกงาน โดยเฉพาะเยาวชนที่กำลังศึกษาและกำลังจะจบการศึกษามีความเสี่ยงสูงมากที่จะมีโอกาสตกงาน ดังนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงมุ่งเน้นสรรหาและจัดสรรงบประมาณเพื่อการสร้างอาชีพและรายได้แนวใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจฐานรากเพื่อสร้างสุขภาวะ ให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตที่กำลังจะจบการศึกษา จึงทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมาคือ “โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้แนวใหม่ตามแนวคิดเศรษฐกิจฐานรากเพื่อสร้างสุขภาวะ” โดยมหาวิทยาลัยรังสิตได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. และได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ของคณะวิชาทำหน้าพี่เลี้ยง สร้างกลุ่มย่อย จำนวน 33 โครงการ เปิดช่องทางการนำความรู้จากห้องเรียน ฝึกฝนสร้างผลิตภัณฑ์ และอบรมความรู้รองรับอาชีพให้นักศึกษา เพื่อเป็นประสบการณ์ให้นักศึกษานำต่อยอดและมีรายได้จริงหลังจบการศึกษา นอกจากนี้ นักศึกษาจะต้องส่งต่อความรู้ให้ประชากรในชุมชนหลักหก ให้ชุมชนมีความรู้ และแนวทางสร้างรายได้ เพื่อเป็นการพลิกฟื้นชุมชนหลักหก
     ล่าสุดมหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดตั้ง “ศูนย์พัฒนาหลักหก” (LakHok Development Center: LHDC) โดยมีแผนงานร่วมทุนสนับสนุน “การพัฒนาสุขภาวะจังหวัดปทุมธานี” ร่วมกับ สสส. โดยแบ่งเป็น 3 เฟส สำหรับแนวคิดการร่วมทุนนี้ สสส. จะสนับสนุนทุนให้ 75% และม.รังสิต 25% โดยมหาวิทยาลัยบริหารจัดการในการที่จะพัฒนาพื้นที่ในชุมชนและจังหวัดปทุมธานี ทั้งนี้ ศูนย์พัฒนาหลักหก จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนากลไกการดำเนินงานร่วมทุนที่ยั่งยืน และเกิดเป็นแหล่งทุนระยะยาวสำหรับการดำเนินงานสร้างสุขภาวะของประชาชนจังหวัดปทุมธานี เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานของบุคคล กลุ่มบุคคล ชุมชน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะ รายได้ สิ่งแวดล้อม และสังคมของจังหวัดปทุมธานีสู่พื้นที่สุขภาวะที่ดีและยั่งยืน โดยมีภารกิจคือ สนับสนุนบุคคล องค์กร หรือเครือข่ายในการปฏิบัติการและพัฒนาต้นแบบการดำเนินงาน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและพื้นที่ใกล้เคียง จัดทำข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลสำคัญต่างๆ เพื่อนำมากำหนดทิศทาง และจุดเน้นการดำเนินงานของแผนงานร่วมทุนฯ รวมถึงการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในด้านประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ในการพัฒนาจังหวัดปทุมธานีและพื้นที่ใกล้เคียง สำหรับศูนย์พัฒนาหลักหกนั้น อยู่ภายใต้สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งจะเป็นแกนหลักด้านงบประมาณและการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ต่อไป